เล่าสู่กันฟังหลังไปสอบรับราชการทหารอากาศ ตำแหน่ง นายทหารเทคนิคช่างโยธา, รองหัวหน้าฝ่ายสถิติและวิเครา

โดย Ekaraj Prakobkit

   

 

 

     เมื่อวันที่ 06/04/2557 ผมได้ไปสอบเพื่อรับราชการทหาร ตำแหน่ง นายทหารเทคนิคช่างโยธา, รองหัวหน้าฝ่ายสถิติและวิเคราะห์ ของกองทัพอากาศ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต  ซึ่งเป็นตำแหน่งของชั้นสัญญาบัตร (แต่งตั้งยศเป็นว่าที่เรืออากาศตรี)  วันนี้ผมเลยอยากมาเล่าประสบการณ์ในห้องสอบ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับคนที่สนใจสอบในปีต่อไปครับ (การสอบจัดขึ้นปีละครั้ง)

 

     การสอบนี้ เป็นสอบเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการทหารในกองทัพอากาศ มีทั้งชั้นสัญญาบัตร (แต่งตั้งยศเป็นว่าที่เรืออากาศตรี)  และ ชั้นต่ำกว่าชั้นสัญญาบัตร (แต่งตั้งยศเป็นจ่าอากาศตรี)  

     โดยที่ชั้นสัญญาบัตรใช้วุฒิปริญญาตรี - โท ส่วนต่ำกว่าชั้นสัญญาบัตรใช้วุฒิต่ำกว่าปริญญาตรี (มัธยมศึกษาตอนปลายและประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.))

     ตำแหน่งและจำนวนที่รับสมัคร จะขึ้นอยู่กับตำแหน่งและจำนวนที่ขาดแคลนในปีนั้น ๆ ซึ่งมีต่ำแหน่งมากมายหลายสาขาวิชาชีพ ไม่ว่าเรียนจบอะไรมาก็แทบจะมีตำแหน่งรองรับทั้งนั้น เช่น นักร้อง , นักบัญชี , พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน , อาจารย์ , วิศวกร , ช่างยนต์ , นักกฏหมาย , แพทย์ , โปรแกรมเมอร์  หรือแม้แต่ นักผลิตและตกแต่งสิ่งพิมพ์ นักออกแบบเสื้อผ้า  และอีกมากมาย ซึ่งหาข้อมูลได้ในเว็บไซต์ของ ทอ. 

 

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสอบ ติดตามได้ที่ job.rtaf.mi.th หรือที่ที่ https://www.facebook.com/RtafRecruitment

 

     ในบทความนี้ผมขออนุญาตพูดถึงเฉพาะการสอบตำแหน่งนายทหารเทคนิคช่างโยธา, รองหัวหน้าฝ่ายสถิติและวิเคราะห์ ที่ผมไปสอบมาเท่านั้นนะครับ วุฒิที่สมัครได้คือ "ปริญญาตรี ในสาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่งทางวิศวกรรมโยธา"

     การสอบ จะแบ่งเป็นสามส่วน คือ สอบข้อเขียน สอบสมรรถภาพทางกาย และสอบสัมภาษณ์ โดยจะต้องสอบผ่านข้อเขียนก่อน ถึงจะไปไปสอบสมรรถภาพทางกาย และถ้าผ่าน ก็จะได้สอบสัมภาษณ์ต่อไป

     ซึ่งบทความนี้ ผมจะเขียนเกี่ยวกับการสอบข้อเขียนเท่านั้นนะครับ

 

     

 

 

ก่อนเข้าห้องสอบ

 

     ในปีของผม เป็นข้อสอบแบบตัวเลือกทั้งหมด ไม่มีเติมคำหรือแสดงวิธีทำ ให้เตรียม ดินสอ 2B ยางลบ กบเหลาดินสอ ไปให้พร้อมก็แล้วกันครับ... ไม่ให้เอาเครื่องคิดเลขเข้านะครับ!! แต่ถ้าเป็นปีอื่น ๆ ผมก็ไม่อาจรับประกันได้นะครับ ตรวจสอบเอาปีต่อปีก็แล้วกันครับ จะมีบอกที่เว็บไซต์ว่าให้เตรียมอะไรไปบ้าง

     วันสอบ ควรไปถึงห้องสอบก่อนเวลาเยอะๆ เลยนะครับ เพราะคนเยอะมาก เพื่อน ๆ อาจจะหาที่จอดรถไม่ได้

 

ปริมาณผู้สนใจเข้าสอบนับหมื่น

 

คนเยอะมากครับ

 

     

     มีหลายคนขอพรจาก ศาสตราจารย์ ดร . ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในการสอบครั้งนี้

 

 

 

 

     และอีกหลายคนก็ไปสงบจิตสงบใจให้อาหารปลา (ข้าง ๆ อาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ มีบ่อปลา และอาหารปลาขายถุงละ 20 บาท) ผมก็ไปให้อาหารปลาเช่นกัน แต่รู้สึกมีแขกอื่นนอกจากปลามาร่วมแจมด้วยนะเนี้ย... ฮ่า ๆ ๆ ๆ 

 

 

เจอตัวเงินตัวทองครับ สงสัยเป็นโชคดีของผมแล้ว จะได้เงิน ๆ ทอง ๆ เยอะ ๆ

 

 

     พอถึงเวลา เขาก็จะประกาศเรียกให้เข้าห้องสอบนะครับ บัตรประจำตัวสอบที่ Print มา ก็ตัดเป็นสองส่วนให้เรียบร้อย ส่วนหนึ่งให้ผู้คุมสอบ อีกส่วนหนึ่งเก็บไว้ และห้ามออกจากห้องสอบก่อนหมดเวลา 30 นาที

 

     เมื่อเข้าห้องสอบแล้ว ให้อ่านระเบียบการสอบบนกระดานเลยนะครับ และจะมีเขียนด้วยว่า ในกระดาษคำตอบ อะไรให้ใช้ดินสอเขียน และอะไรให้ใช้ปากกาเขียน ดูดี ๆ นะครับ

 

     

 

 

 

เกี่ยวกับข้อสอบ

     ข้อสอบจะแบ่งเป็นสองส่วนนะครับ คือส่วนความรู้ทั่วไปและส่วนความรู้เฉพาะทาง โดยน้ำหนักคะแนน ความรู้ทั่วไป:ความรู้เฉพาะทาง คือ 40:60 

     ข้อสอบเป็นกากบาทล้วน เป็นความรู้ทั่วไป 60 ข้อ และความรู้เฉพาะทาง 90 ข้อ รวมเป็น 150 ข้อ เวลาสอบ 2 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งก็คือ 150 นาที นั่นก็แปลว่า เรามีเวลาทำข้อสอบเพียงข้อละ 1 นาทีเท่านั้น ดังนั้น ถ้าเราเห็นว่าข้อไหนท่าไม่ดี ใช้เวลาทำนาน ข้าม ๆ ไปก่อนเลยครับ เวลาเหลือค่อยกลับมาทีหลัง

     โดยผู้ที่จะผ่านเข้ารอบทดสอบร่างกาย ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 60% (กาถูกเกิน 90 ข้อนั่นเอง) และจะคัดคนไปสอบความพร้อมของร่างกายเป็นจำนวน 4 เท่าของจำนวนที่เปิดรับ (เช่นตำแหน่งที่ผมสมัครรับ 2 คน ดังนั้นเขาจะคัดคนผ่านแค่ 8 คน แต่ 8 คนนี้ต้องคะแนนเกิน 60% นะครับ)

 

     เรามาว่ากันเรื่องแนวข้อสอบกันดีกว่า ข้อสอบพื้นฐานความรู้ทั่วไปจะประกอบไปด้วย วิชา คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ ภาษาไทย และกฏหมาย  5 วิชา 60 ข้อ เฉลี่ยวิชาละ 12 ข้อ (ของจริง ผมก็ลืมสังเกตว่าจริง ๆ แล้ว วิชาละกี่ข้อกันแน่) แต่แนวข้อสอบของวิชาพวกนี้ ผมขอข้ามไปดีกว่า เพราะมันมีอยู่เต็ม Internet และเต็มร้านหนังสือทั่วไป หาซื้ออ่านกันได้ครับ

     

     ผมขอมาพูดเกี่ยวกับวิชาทางด้านวิศวกรรมโยธาทั้ง 90 ข้อดีกว่า โดยรวม ๆ แล้ว ที่ผมสังเกต ข้อสอบจะประกอบไปด้วย ความรู้ด้านวัสดุ ด้านหน้างานก่อสร้างจริง ความรู้ทฤษฎีออกแบบ และความรู้เรื่องมาตรฐานและข้อกำหนดต่าง ๆ ในการก่อสร้างและมาตรฐานออกแบบ (จำมาตรฐานและข้อกำหนดได้หรือเปล่า นั่นเอง)

     

 

     ผมขอยกตัวอย่างข้อสอบที่ผมเจอในปีนี้ มาให้ดูบางข้อก็แล้วกันนะครับ แต่ขอไม่ลงคำตอบนะครับ เพราะผมอาจจะผิดได้ และผมก็จำตัวเลือกไม่ค่อยได้ด้วย หากจำได้ ผมจะวงเล็บไว้นะครับ อย่างน้อยเราก็จะได้รู้ว่าควรเตรียมตัวเรื่องอะไรบ้างนะครับ

 

 

1.ข้อใดคือส่วนประกอบของปูนซีเมนต์  (แต่ละตัวเลือกจะให้ชื่อวัสดุมา 3 อย่าง เช่นพวก ซิลิก้า อลูมินา ฯลฯ)

 

2. ปูนซีเมนต์ (หรือคอนกรีต ผมก็จำโจทย์ไม่ได้ว่าถามปูนซีเมนต์หรือคอนกรีต) ยี่ห้อใด แข็งตัวในน้ำได้

 

3.เลข 5 ที่เขียนบนปากถุงปูนหมายถึงอะไร

 

4.ลวดผูกเหล็กที่ใช้ในท้องตลาด เป็นลวดเบอร์อะไร

 

5.ปูนฉาบหลังผสมเสร็จ ต้องใช้ให้หมดภายในเวลาเท่าไหร่

 

6.ปูนขาวที่ขายกันในท้องตลาด ขายครั้งละกี่กิโลกรัม

 

7.เหล็กข้ออ้อยกับเหล็กกลม มีคุณสมบัติแตกต่างกันอย่างไร

 

8.ตามวิธีหน่วยแรงใช้งาน เสาสามารถรับกำลังอัดได้เท่าไร่ (ตัวเลือกจะเป็นสมการ)

 

9. คอนกรีต 1 ลบ.ม. หนักเท่าไหร่

 

10. หน่วยวัดไม้ คือหน่วยใด

 

11. ข้อใดไม่ใช่การวิบัติเนื่องจากแรงดึง

 

12.ตามมาตรฐานแล้ว ไม้แบ่งออกเป็นกี่ประเภท

 

13.เหล็กใดเป็นเหล็กรับกำลังหลักในคานยื่น

 

14.การรื้อค้ำยันคานยื่น ต้องรื้ออย่างไร

 

15. การรื้อค้ำยันท้องคาน ต้องรื้อหลังจากเทคอนกรีตเสร็จแล้วกี่วัน

 

16. มีโจทย์ประมาณ 3-4 ข้อนะครับ ที่ถาม น้ำหนักจรตามมาตรฐานของห้องแต่ละชนิด อาคารแต่ละชนิด เช่น ดาดฟ้า บ้าน ห้องสมุด โรงรถ คลังสินค้า น้ำหนักจรมาตรฐานเท่าไหร่ หรือบางทีก็ถามว่า จงเรียงลำดับห้องที่มีน้ำหนักจรตามมาตรฐานจากน้อยไปมาก หรือถามว่า ข้อใดมี LL มากสุด

 

17. ในกรุงเทพฯ หากไม่มีผล Test ดิน เสาเข็มลึกไม่เกิน 7 เมตร ให้ใช้ค่าความฝืดเท่าไหร่ในการคำนวณ

 

18. ระยะหุ้มคอนกรีตของฐานรากคือเท่าไหร่?

 

19. คอนกรีตประเภทใดแข็งตัวเร็วที่สุด

 

20. คอนกรีตหยาบมีประโยชน์อย่างไร

 

21. ค่ากำลังคอนกรีตที่ใช้ในการออกแบบ มาจากการทดสอบการกดลูกปูนประเภทใด (ลูกบาศก์หรือทรงกระบอก) และต้องทดสอบเมื่อเวลาผ่านไปกี่วัน

 

22.  พื้น GS คือพื้นประเภทใด

 

23. ตะแกรง Wire Mesh ใช้แทนเหล็กเส้นในกรณีใดได้บ้าง

 

24. งานคอนกรีตสะพาน ถือว่าเป็นงานคอนกรีตประเภทใด (คอนกรีตโครงสร้าง? , คอนกรีตปราณีต? , คอนกรีตสาธารณะ? , คอนกรีตซ่อมแซม?)

 

25. ทำไมไม่ใช้ทรายน้ำเค็มในการผสมคอนกรีต (แพง? , หายาก? , ทำให้คอนกรีตเสื่อมสภาพง่าย? , ตัวเลือกที่สี่จำไม่ได้ครับ)

 

26. ข้อใดไม่ถูกต้องตามกฏกระทรวง (ตัวเลือก จะ Copy ข้อกำหนดมาวาง เช่น 'ค่า fs สูงสุดที่ให้ใช้คือ คือ 0.5fy และไม่เกิน 1500 ksc เป็นต้น แล้วหาว่าข้อใดผิด)

 

27. Wire Mesh ควรวางที่ตำแหน่งในในพื้น GS (ห่างจากผิวบนคอนกรีต 3 cm.? , ห่างจากทรายท้องพื้น 3 cm.? , กลางพื้นคอนกรีต? , ชิดทรายท้องพื้น? )

 

28. เหล็กใดไม่มีขายในท้องตลาด (DB10 , DB16 , DB19 , DB20)

 

29. เหล็กรางน้ำ คือเหล็กอะไร? (L , WF , C , I)

 

30. เหล็ก 2 หุล และ 4 หุล คือเหล็กอะไร ตามลำดับ

 

31. เหล็กเส้นที่จะนำไปใช้เป็นเหล็กรับกำลังหลักในโครงสร้าง ขนาดเล็กสุด ต้องไม่น้อยกว่าเท่าไหร่

 

32. เหล็กปลอกในเสามีประโยชน์อย่างไร

 

33. เหล็กเส้นขนาดใหญ่ที่สุดที่ใช้ในงานคอนกรีตเสริมเหล็ก ต้องไม่เกินเท่าไหร่

 

34. ค่า E ของเหล็กรูปพรรณคือเท่าไหร่

 

35. เหล็ก DB20 หนักเท่าไหร่ หน่วยเป็น กก./ม.

 

36. หากแบบก่อสร้างกำหนดให้ใช้เหล็ก WF แต่ไม่สามารถจัดหาได้ ควรใช้เหล็กใดแทน (BOX? , I? , L?,Pipe?)

 

37. ค่าโมเมนต์สูงสุดที่เกิดขึ้นในฐานราก อยู่ที่บริเวณใด

 

38. การคำนวณความหนาของฐานราก ขึ้นอยู่กับแรงใดเป็นหลัก

 

39. ข้อใดคือข้อเสียของ Metal Sheet (แพง? , หนัก? , ร้อน? , พังง่าย?)

 

40. ส่วนใดของโครงหลังคารับแรงมากสุด

 

41. ส่วนใดของโครงหลังคารับแรงน้อยสุด

 

42. ข้อใดคือการฉาบปูนที่ไม่ถูกต้อง

 

43. อิฐมอญขนาดเล็กรูปแบบใหม่ หากจะก่อ 1 ตร.ม. ต้องใช้กี่ก้อน

 

44. วัสดุในข้อใด หนักที่สุด (Metal Sheet? , อิฐบล๊อก? , อิฐมอญ? , กระเบื้อง?)

 

45. ปูนขาว ผลิตจากอะไร

 

46. ข้อใดไม่ใช่ประโยชน์ของปูนขาว

 

47. ถังน้ำ 1 ถัง หากเจาะก๊อก 1 จุดกับ 3 จุด จะมีความแตกต่างกันอย่างไร (น้ำจากก๊อกไหล่แรงขึ้น , น้ำจากก๊อกไหล่เบาลง , ปริมาณน้ำเท่าเดิม , จำตัวเลือก 4 ไม่ได้ครับ)

 

48. คานที่มีขนาดเท่ากัน เหล็กเสริมเท่ากัน ค่า d เท่ากัน แต่กำลังคอนกรีตต่างกัน คานทั้งสองตัวนี้จะมีพฤติกรรมต่างกันอย่างไร

 

49. หากทดสอบกำลังอัดคอนกรีตรูปทรงกระบอกได้ 280 ksc ถ้านำคอนกรีตชนิดเดียวกันนี้ไปทดสอบแบบลูกบาศก์ จะได้กำลังอัดเท่าใด

 

50. ถังน้ำสูง 3.0 m. จุน้ำสูง 2.5 เมตร ดินจะรับน้ำหนักเท่าไหร่ หน่วยเป็น กก./ตร.ม.

 

51. ปูนซีเมนต์จะกำลังเหลือ 80% หากทิ้งไว้นานเท่าใด หน่วยเป็นเดือน

 

52. จุดใดในเหล็ก ถือว่ากำลังสูงที่สุด (Ultimate Strength , Yield Strength , Proof strength , ตัวเลือกที่ 4 จำไม่ได้ครับ)

 

53. ถนน 2 เลน ควรกว้างไม่ต่ำกว่ากี่เมตร

 

54. ฐานรากแผ่ ควรหนาต่ำสุดเท่าไหร่

 

55. พื้นกว้าง 4x5 เมตร มีคานรองรับทั้ง 4 ด้าน ควรมีความหนาพื้นไม่ต่ำกว่าเท่าไหร่

 

56. การทาบเหล็กเส้น ไม่ควรทาบต่ำกว่าเท่าไหร่ (20 cm. , 25 cm. , 30 cm. , ตัวเลือกที่ 4 จำไม่ได้ครับ)

 

 

 

 

 

     ข้อสอบที่ผมจำ ๆ ได้ ก็ประมาณนี้แหละครับ หวังว่าคงช่วยทุกท่านเพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมตัวสอบได้ไม่มากก็น้อย ไว้วันหลังผมว่าง ๆ จะลองมานั่งทำเฉลยในบางข้อดู ขอให้โชคดีทุกคนนะครับ

 

↑ Back to top

ผู้โหวตบทความนี้

Youthakarn Panklump,Jaruek Lek Intharachaiya

«« กดโหวตตรงนี้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ความคิดเห็น